เมื่อครอบครัวใดเกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวขึ้น ครอบครัวนั้นย่อมอยู่กันอย่างไม่มีความสุข ถ้าความขัดแย้งเกิดที่คู่สามีภรรยา ก็จะส่งผลกระทบมาถึงลูก ๆ และสมาชิกในครอบครัว การลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวก็เท่ากับเพิ่มความสุขให้กับครอบครัว ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. การยอมรับซึ่งกันและกัน
เป็นความจริงที่ว่านิสัยและความเคยชินส่วนตัวนั้น เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงกันได้ยากมาก เพราะเป็นนิสัยที่ติดตัวของแต่ละคนมานาน ซึ่งเป็นการฏิบัติซ้ำ ๆ มาแล้วในอดีต ถึงแม้จะเปลี่ยนกันได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น สามีภรรยาจึงต้องยอมรับซึ่งกันและกันพยายามทำใจให้ได้แล้วปรับตัวเข้าหากัน รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวให้กัน ถึงจะลดความขัดแย้งในครอบครัวลงได้
2. ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่
ในสมัยก่อนสามีจะมีบทบาทเป็นผู้นำ หาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่ในปัจจุบันภรรยาก็มีบทบาทในการทำงาน หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวด้วยเช่นกัน แถมกลับจากทำงานภรรยายังต้องมารับผิดชอบงานในบ้าน และยังต้องอบรมสั่งสอนบุตรอีก ความเหนื่อยล้าอาจทำให้ในบางครั้งภรรยารู้สึกหงุดหงิด และจุกจิกจู้จี้ไปบ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ยิ่งสามีบางคนไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง คอยตำหนิ ดุด่าภรรยาว่าไม่อบรมเลี้ยงดูบุตรทำให้ลูกมีนิสัยไม่พึงประสงค์ ทั้ง ๆ ที่งานอบรมเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่โดยตรงของทั้งพ่อและแม่ ดังนั้น สามีภรรยาจึงต้องช่วยกันในการอบรมเลี้ยงดูบุตร ตลอดจนการงานในบ้านที่ต้องแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
3. มีเวลาให้กัน
ในแต่ละวันต่างฝ่ายต่างมีภาระกิจที่ต้องแยกจากกันเพื่อไปทำงาน บางคู่อาจถึงกับแยกกันอยู่ ทำให้ไม่มีเวลาที่จะพูดคุยกันเหมือนเดิม การไม่มีเวลาให้กันเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในครอบครัวอย่างง่ายดาย ทำให้อีกฝ่ายน้อยอกน้อยใจได้ คุณควรจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว โดยอาจตกลงกันว่าวันไหนจะเป็นวันแห่งครอบครัว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ที่จะมีเวลาอยู่พร้อมหน้าครอบครัวเพื่อจะมีกิจกรรมร่วมกัน
4. ไม่ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาในครอบครัว
บางทีคำพูดคำจาของอีกฝ่ายก็ยั่วยุให้เกิดโทสะได้ บางครั้งอาจทำให้ฝ่ายชายโกรธถึงกับลงมือทำร้าย ซึ่งนำความขุ่นเคืองใจและกระทบความรู้สึกนานกว่าจะหายได้ นอกจากนี้การทะเลาะ ดุด่า ข่มขู่ กัน ไม่ทำให้ปัญหาสิ้นสุดแต่จะลุกลามบานปลายมากขึ้น ควรทำความตกลงร่วมกันว่าจะไม่ได้พูดยั่วยุอีกฝ่าย จนถึงขั้นทนไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการลงไม้ลงมือด้วยการเดินหนีไปสักระยะหนึ่งก่อน เมื่อหายโกรธจึงค่อยกลับมา ไม่ควรโกรธกันนานเกิน 1 อาทิตย์ ใครผิดต้องขอโทษก่อนและอีกฝ่ายต้องรีบให้อภัย และไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า
5. ไม่นอกใจกัน
นับเป็นปัญหาที่ทำให้เสียความรู้สึก ทำให้เกิดความทุกข์ความขัดแย้งตามมา การรักเดียวใจเดียว การมีความเข้มแข็งในจิตใจกล้าปฏิเสธสิ่งยั่วยุ ไม่แอบคุยกับคนอื่นแล้วเกิดความสัมพันธ์นอกรอยตามมา ย่อมเป็นการตัดต้นเหตุแห่งความขัดแย้งสร้างความรู้สึกไว้วางใจต่อกันทำให้ครอบครัวสงบสุขราบรื่น
เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ไม่ควรปล่อยไว้นานวัน ควรหันหน้าเข้าหากัน หาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่ผลักภาระความรับผิดชอบให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรพูดกันด้วยวาจาสุภาพอ่อนโยน ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา แล้วความขัดแย้งต่างๆ จะค่อย ๆ ลดลง เป็นผลให้ครอบครัวมีความสุขในทุก ๆ วัน